ภาษีนำเข้า
ข้อมูลทางสถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่สำรวจระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2562 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 47.5 ล้านคน โดยการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งชำระเงินออนไลน์เป็นกิจกรรมที่อยู่ใน 10 อันดับกิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตของคนไทย โดยธุรกรรมที่เกิดขึ้นจำนวนมากเป็นการสั่งสินค้าจากต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้กระทรวงการคลังจึงปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าใหม่ โดยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้าทุกชิ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป จากเดิมที่ใช้วิธีสุ่มตรวจที่ด่านศุลกากร ในการคิดภาษีสินค้านำเข้านั้น มีจำนวนที่จำเป็นต้องทราบสำหรับการคำนวณคือ Cost Insurance Freight (C.I.F.) ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกิดจากค่าสินค้า + ประกันภัย + ค่าขนส่งระหว่างประเทศ และใช้อ้างอิงในการคำนวณภาษีดังต่อไปนี้
1. ภาษีอากรนำเข้า

สินค้าที่นำเข้าประเทศต้องผ่านการชำระอากรตามที่ศุลกากรกำหนด ของใดที่กฎหมายกำหนดให้ชำระอากรด้วยอัตราตามปริมาณและอัตราตามมูลค่า ให้คำนวณทั้ง 2 แบบ แล้วศุลกากรจะเลือกเก็บอัตราที่มากกว่า ผู้นำเข้าสินค้าต้องเก็บเอกสารส่วนนี้ไว้ในระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปีหลังจากเลิกกิจการให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
สูตรการคำนวณ ภาษีอากรนำเข้า = ราคา C.I.F. x อัตราอากรขาเข้า
2. ภาษีสรรพสามิต

ภาษีสรรพสามิตจะถูกเรียกเก็บกับรายการสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือส่งผลให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าที่เข้าข่ายนี้ ได้แก่ รถยนต์ น้ำหอม สุรา เป็นต้น
การคำนวณใช้สูตร
ภาษีสรรพสามิต = ( C.I.F. + อากรขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ) x อัตราภาษีสรรพสามิต) ÷ 1-(1.1x อัตราภาษีสรรพสามิต)
หรือ ภาษีสรรพสามิต = ปริมาณ (ลิตรหรือกิโลกรัม) x อัตราภาษีสรรพสามิต
3. ภาษีเพื่อมหาดไทย

ภาษีเพื่อมหาดไทยจะถูกเรียกเก็บเพิ่มเมื่อสินค้านั้นต้องชำระภาษีสรรพสามิต โดยคำนวณภาษีส่วนนี้จากสูตร
ภาษีเพื่อมหาดไทย = ภาษีสรรพสามิต x อัตราภาษีเพื่อมหาดไทย (10%)
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เก็บจากการขายสินค้าและบริการ โดยคำนวณจากสูตร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคา C.I.F. + อากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีมหาดไทย) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%)